วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปฏิจจสมุปบาท หลายนัย

     


     1. ธัมฐิตตา หรือ ธัมมฐิติ   คือ  ความดำรงอยู่ตามธรรม  หมายถึง  ความดำรงอยู่ตามปัจจัย  สิ่งที่ดำรงอยู่ตามปัจจัยนั้น ก็คือ อวิชชา  สังขาร  ฯลฯ  ชาติ  ชรามรณะ  ซึ่งก็หมายความว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้สังขารดำรงอยู่  สังขารเป็นปัจจัยให้วิญญาณดำรงอยู่  วิญญาณเป็นปัจจัยให้นามรูปดำรงอยู่  นามรูปเป็นปัจจัยให้สฬายตนะดำรงอยู่   สฬายตนะเป็นปัจจัยให้ผัสสะดำรงอยู่  ผัสสะเป็นปัจจัยให้เวทนาดำรงอยู่   เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหาดำรงอยู่   ตัณหาเป็นปัจจัยให้อุปาทานดำรงอยู่   อุปาทานเป็นปัจจัยให้ภพดำรงอยู่  ภพเป็นปัจจัยให้ชาติดำรงอยู่  ชาติเป็นปัจจัยให้ชรามรณะดำรงอยู่   เมื่อชาติชรามรณะยังดำรงอยู่แน่นอนว่า โสกะ  (ความโศก)  ปริเทวะ  (ความร้องไห้คร่ำครวญ)  ทุกข์  (ความทุกข์กาย)  โทมนัส (ความทุกข์ใจ)  อุปายาส  (ความคับแค้นใจ)  ก็ยังดำรงอยู่ด้วย
     2.  ธัมมนิยามตา หรือ ธัมมนิยาม  คือ ความแน่นอนแห่งธรรม  หรือความแน่นอนตามธรรม  หมายถึง ความแน่นอนแห่งปัจจัยหรือความแน่นอนตามปัจจัย  สิ่งที่แน่นอนตามปัจจัยนั้น  ก็คือ อวิชชา  สังขาร  ฯลฯ  ชาติ  ชรามรณะ  ซึ่งก็หมายความว่า  อวิชชา เป็นปัจจัยให้สังขารเกิดแน่นอน  สังขารเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดแน่นอน   วิญญาณเป็นปัจจัยให้นามรูปเกิดแน่นอน  นามรูปเป็นปัจจัยให้สฬายตนะเกิดแน่นอน   สฬายตนะเป็นปัจจัยให้ผัสสะเกิดแน่นอน  ผัสสะเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดแน่นอน  เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหเกิดแน่นอน  ตัณหาเป็นปัจจัยให้อุปาทานเกิดแน่นอน  อุปาทานเป็นปัจจัยให้ภพเกิดแน่นอน   ภพเป็นปัจจัยให้ชาติเกิดแน่นอน   ชาติเป็นปัจจัยให้ชรามรณะเกิดแน่นอน   เมื่อมีชาติ ชรามรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ย่อมเกิดด้วยอย่างแน่นอน
     3.  อิทัปปัจจยตา   คือ  ความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย  หมายถึง  เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้ก็มีตาม   เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นตาม   สิ่งที่เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มีตาม  ก็คือ อวิชชา  สังขาร  ฯลฯ  ชาติ  ชรามรณะ  ซึ่งก็หมายความว่าเมื่ออวิชชามี สังขารก็มีตาม   เมื่อสังขารมี วิญญาณก็มีตาม  เมื่อวิญญาณมี นามรูปก็มีตาม  เมื่อนามรูปมี สฬายตนะก็มีตาม  เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะก็มีตาม   เมื่อผัสสะมี เวทนาก็มีตาม  เมื่อเวทนามี ตัณหาก็มีตาม   เมื่อตัณหามี อุปาทานก็มีตาม  เมื่ออุปาทานมี ภพก็มีตาม   เมื่อภพมี ชาติก็มีตาม   เมื่อชาติมี  ชรามรณะก็มีตาม   เมื่อชรามรณะมี  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ก็มีตามด้วย
     4.  ตถตา  คือ ความเป็นเช่นนั้น  หมายถึง  ความเป็นจริงอย่างนั้น  สิ่งที่เป็นจริงอย่างนั้น  ก็คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร   สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ  ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะซึ่งเป็นความจริงที่คงอยู่ตลอดเวลา  และเป็นความจริงที่ว่า เมื่อมีชาติ  ชรามรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์โทมนัส  อุปายาส  ก็เป็นของจริงที่เกิดตามมาจริง
     5.  อวิตถตา  คือ ความเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เป็นเช่นนั้น  หมายถึง ความเป็นจริงอย่างนั้นไม่ผันแปรไปเป็นความไม่จริง  สิ่งที่เป็นจริงโดยไม่ผันแปรนั้น  ก็คือ  อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร   สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ  ฯลฯ  ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ  และก็เป็นความจริงโดยไม่มีทางผันแปรไปได้อีกที่ว่า  เมื่อมีชาติ  ชรามรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ก็เป็นจริงที่เกิดตามมาโดยไม่ผันแปร
     6.  อนัญญถตา  คือ  ความไม่เป็นอย่างอื่น  หมายถึง เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้  สิ่งที่เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้ ก็คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร   สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ  ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ   และก็เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้  ก็คือ เมื่อมีชาติ  ชรามรณะแล้วโสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ก็เป็นจริงที่เกิดตามมาโดยไม่ผันแปรเป็นอื่นจากนี้ไปได้
     7.  ปัจจยาการ  คือ  อาการตามปัจจัย  หมายถึง  อาการที่เกิดขึ้นตามปัจจัย  ซึ่งก็หมายความว่า อวิชชา  สังขาร   ฯลฯ   ชาติ  ชรามรณะ  ต่างเกิดขึ้นตามปัจจัยปรุงแต่ง   และเมื่อมีชาติ ชรามรณะแล้ว  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ก็เกิดตามปัจจัยด้วย

ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-32-01.htm





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น