วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อาสวะ

อาสวะ

     ก่อนจะพูดถึง แต่ละขั้นตอนของวงจรปฏิจจสมุปบาทนั้น ต้องพูดถึงที่มาของสิ่งเหล่านี้ก่อน นั่นก็คือ “อาสวะ”

     อาสวะ แปล ตามรูปศัพท์ว่า สิ่งที่ไหลซ่านไปทั่ว หรือ อีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่หมักหมม หรือหมักดอง หมายความว่า เป็นสิ่งที่หมักดองสันดาน คอยมอมพื้นจิตใจ และ เป็นสิ่งที่ไหลซ่าน ไปอาบย้อมจิตใจ เมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าคนจะรับรู้อะไรทางอายตนะใด หรือจะคิดนึกสิ่งใด อาสวะเหล่านี้ ก็เที่ยวกำซาบซ่านไปแสดงอิทธิพล ย้อมมอมมัวสิ่งที่รับรู้เข้ามา และ ความนึกคิดนั้นๆ แทนที่จะเป็นอารมณ์ของจิตและปัญญาล้วนๆ กลับเสมือนเป็นอารมณ์ของอาสวะไปหมด ทำให้ไม่ได้ความรู้ ความคิดที่บริสุทธิ์ และเป็นเหตุก่อทุกข์ ก่อปัญหาเรื่อยไป

     โดยอาสวะนั้น เป็นที่มาแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนทุกคน เป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์หลงผิด มองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวตนของตน อันเป็นอวิชชาขั้นพื้นฐานที่สุด แล้วบังคับบัญชาให้นึกคิดปรุงแต่ง แสดงพฤติกรรม และกระทำการต่างๆ ตามอำนาจของมันโดยไม่รู้ตัว เป็นขั้นเริ่มต้นวงจรปฏิจจสมุปบาท คือ เมื่ออาสวะเกิดขึ้น อวิชชาก็เกิด แล้วอวิชชาก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ในภาวะที่แสดงพฤติกรรมถูกบังคับบัญชา ด้วยสังขาร ที่เป็นแรงขับไร้สำนึกทั้งสิ้น

     ๑.กามาสวะ คือ ความใฝ่การสนองความต้องการทางประสาททั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย)
     ๒.ภวาสวะ คือ ความใฝ่หรือห่วงในความมีอยู่คงอยู่ของตัวตน ตลอดจนการที่ตัวตนจะได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ และ การที่จะดำรงคงอยู่ในภาวะที่อยากเป็นนั้นยั่งยืนตลอดไป
     ๓.ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็น ความเชื่อถือ ความเข้าใจ ทฤษฎี แนวความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สั่งสมอบรมมา และยึดถือเชิดชูไว้
     ๔.อวิชชาสวะ คือ ความหลง ความไม่เข้าใจ คือ ความไม่ตระหนักรู้และไม่กำหนดรู้ความเป็นมาเป็นไป เหตุ ผล ความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ ตลอดจนความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ หรือ เหตุการณ์ทั้งหลาย ตามสภาวะโดยธรรมชาติของมันเอง ความหลงผิดว่ามีตัวตนที่เข้าไปทำ และถูกกระทำกับสิ่งต่างๆ ไม่มองเห็นความสัมพันธ์ทั้งหลายในรูปของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย พูดสั้นๆ ว่า ไม่เห็นตามที่มันเป็น แต่รู้เห็นตามที่คิดว่ามันเป็น หรือคิดให้มันเป็น
ต่อไปเรามาดูกันในรายละเอียดว่า ในแต่ละขั้นตอนของวงจรปฏิจจสมุปบาทนั้น ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง


http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-32-01.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น