เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเกิดการดำเนินไปและการดับไปของชีวิต รวมถึงการเกิด การดับแห่งทุกข์ด้วย ในกระบวนการนี้สิ่งทั้งหลายจะเกิดขึ้น เป็นอยู่ และดับลงไปในลักษณะแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันในรูปของ วงจร กล่าวคือ เป็นกระบวนแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ ในกระบวนแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่มีส่วนไหนเป็นปฐมกรหรือปฐมเหตุ เพราะกระบวนการของชีวิตเป็นวัฏฏะแห่งกิเลส กรรม วิบาก ซึ่งกลายเป็นวัฏสงสาร
แต่อย่างไรก็ตาม ในการพยายามอธิบายกระบวนการแห่งชีวิต ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ จำเป็นจะต้องหาจุดเริ่มต้นอธิบายให้เห็นว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอย่างไรก่อน ดังนั้นท่านจึงสมมติเริ่มจากอวิชชา โดยอธิบายอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสิ่งอื่น ๆ ตามมาเป็นวัฏจักรนำไปสู่ทุกข์ ในทำนองเดียวกัน ถ้าอวิชชาดับไปไม่เหลือ ก็จะเป็นเหตุนำไปสู่การดับทุกข์ได้ในที่สุด เพราะความเป็นไปของชีวิตมีสภาวะเป็นวงจรที่เรียกว่าสงสารวัฏ ดังนั้นเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดของสังสารวัฏจึงไม่ปรากฏ
ลักษณะอีกประการหนึ่งที่นับว่าเป็นหลักเกี่ยวกับความรู้ในพุทธปรัชญา ก็คือ พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงแสวงหาความจริงทั้งหลาย ที่ไม่สามารถนำมาอธิบายได้ด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท อันได้แก่ อัพยากตปัญหา คือปัญหาที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ของมนุษย์ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้วมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ฯลฯ เป็นต้น เพราะความรู้เรื่องอภิปรัชญาเช่นนี้ไม่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์และไม่มีผลในทางปฏิบัติสำหรับชีวิตจริง เป็นปัญหาที่อธิบายแล้วคนไม่อาจจะมองเห็นและเข้าใจได้
ปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง สิ่งที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะของสิ่งที่ไม่เป็นอิสระของตนต้องอาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้
คำว่า ปฏิจจสมุปบาท นี้ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้แปลไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า สภาวธรรมที่เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยซึ่งกันและกัน
ชื่อต่าง ๆ ของปฏิจจสมุปบาท ยังมีคำอื่น ๆ เรียกแทนคำว่า "ปฏิจจสมุปบาท" (คำอันเป็นไวพจน์) ได้อีก คือ
ธัมมฐิตตา หรือ ธัมมฐิติ ธัมมนิยามตา หรือ ธัมมนิยาม อิทัปปัจจยตา ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา ปัจจยการ
ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-32-01.htm
ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-32-01.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น