ปฏิจจสมุปบาทเป็นพุทธธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และเป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งที่สุด จนได้ชื่อว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา หรือตัวแท้ของศาสนา ( แก่นแท้ของพุทธศาสนา ) ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทอาจเห็นได้จากพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท"
"ภิกษุทั้งหลาย แท้จริงแล้ว อริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ เมื่อใดอริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิด ความดับของโลกตามที่มันเป็นเช่นว่านี้ อริยสาวกนั้น เรียกว่าเป็นผู้มีทิฐิสมบูรณ์ (ความเห็นที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์) ก็ได้ ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ก็ได้ ผู้บรรลุถึงสัจธรรมนี้ก็ได้ ชื่อว่าผู้ประกอบด้วยเสขญาณก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชาก็ได้ ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้วก็ได้ พระอริยบุคคลผู้มีปัญญาชำระกิเลสก็ได้ ผู้อยู่ชิดติดประตูอมตะก็ได้"
"สมณพราหมณ์เหล่าใด รู้ธรรมเหล่านี้ รู้เหตุเกิดแห่งธรรมเหล่านี้ รู้ความดับของธรรมเหล่านี้ รู้ทางดำเนินเพื่อดับแห่งธรรมเหล่านี้ ฯลฯ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล จึงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และได้ชื่อว่าได้บรรลุ-ประโยชน์ของความเป็นสมณะและประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่ง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน"
ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทนั้นมีมาก หากเราเข้าใจอย่างชัดเจน และปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดตามจุดหมายของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นแก่นแท้หรือสาระสำคัญสูงสุดของพุทธศาสนา ในกาลครั้งหนึ่ง พระอานนท์กราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่า เรื่อปฏิจจสมุปบาทดูเป็นเรื่องง่ายและตื้นสำหรับตัวท่านเอง พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพระอานนท์ว่า
"ดูก่อนอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึก ลักษณะโครงสร้างก็ลึกซึ้ง หมู่สัตว์นี้ไม่รู้ ไม่รู้ตามที่เราสอน ไม่แทงตลอดหลักปฏิจจสมุปบาท จิตจึงยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายที่ยุ่ง เหมือนกลุ่มเศษด้ายที่เป็นปม ติดพันซ่อนเงื่อนกันยุ่ง เหมือนเชิงผ้ามุญชะและหญ้าปัพพชะ ไม่ล่วงพ้นจากสังสาระคืออบาย ทุคติ วินิบาตไปได้"
ปฏิจจสมุปบาทเป็นแก่นแท้หรือหัวใจของพุทธศาสนา เป็นหลักแสดงถึงกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สืบต่อเชื่อมโยงกันทั้งในกระบวนการเกิดและดับ หากจะประมวลเอาสาระสำคัญของปฏิจจสมุปบาทนั้น ไม่อาจกล่าวให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด แต่อาจสรุปความสำคัญบางประการได้ ดังนี้
เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎธรรมชาติของสรรพสิ่ง ซึ่งมีการไหลไปไม่หยุดนิ่ง มีเกิดในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และแตกดับไปในที่สุด
เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎธรรมดาของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎแห่งสงสารวัฏ คือวงจรแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยกิเลส กรรม วิบาก
เป็นหลักธรรมข้อใหญ่ที่ประมวลเอาความหมายแห่งธรรมทั้งหลายมาไว้
เป็นธรรมที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตของมนุษย์ในขณะนี้และเดี๋ยวนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น